โรงแรม “ชินะปุระ” เปรียบเสมือนกับพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยา ล้านนา และงานศิลปะไทย รวมถึงหมวดงานช่างโบราณที่หาแหล่งองค์ความรู้ความชำนาญในวิชานั้นๆ ได้ยาก แทบจะไม่หลงเหลือให้ได้เห็นกันในยุคปัจจุบัน งานศิลปะทุกชิ้นที่ชินะปุระจึงดูงดงามประณีตวิจิตรศิลป์สมดั่งที่ผู้สร้าง “ชินะปุระ” ได้ตั้งใจและใส่ใจกับรายละเอียดในทุกขั้นตอน
เราให้ท่านมากกว่าโรงแรมที่พัก และอยากให้เวลาทุกนาทีที่ท่านใช้อยู่กับเราเป็นเวลาที่มีค่ามากที่สุด
ชุดนักรบของอยุธยา ได้รับวัฒนธรรมและอิทธิพลมาจากประเทศจีน พบได้จากบรรดาหลักฐานที่เป็นงานประติมากรรมสลักหรือจิตรกรรมฝาผนัง สมัยอยุธยาที่ยังหลงเหลืออยู่
ศาสตราวุธของอยุธยา ไม่เพียงแต่ทำให้เราได้เรียนรู้และมีความเข้าใจในเรื่องของรูปแบบกองกำลังและยุทธวิธีของกองทัพในอาณาจักรต่างๆ ในห้วงเวลานั้นเท่านั้น แต่บรรดาศาสตราวุธทั้งหลายก็ยังคงเป็นเครื่องสะท้อนถึงพัฒนาการทางสังคมของรัฐนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อของรัฐเหล่านั้นด้วย
การดุนลายเป็นงานสร้างสรรค์เชิงช่างหัตถศิลป์ที่บรรจงสร้างลวดลายบนแผ่นโลหะ และชิ้นงานในรูปทรงต่างๆ อย่างมีความประณีตสวยงาม ตั้งแต่สมัยพญามังรายเมื่อปีพ.ศ.1839 ได้สร้างความสัมพันธ์กับพุกาม และเจรจาขอช่างฝีมืออันได้แก่ช่างทอง ช่างฆ้อง ช่างต้อง ช่างแต้ม ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่างเขิน เป็นต้น
งานแกะสลักไม้ ถือว่าเป็นงานศิลปกรรมที่เก่าแก่ประเภทหนึ่ง ซึ่งมีการสรรค์สร้างอย่างสวยงามและประณีตบรรจง ปรากฏอยู่ทุกยุคทุกสมัยแกะสลักไม้ สืบทอด ศิลปะ วัฒนธรรม มาจากบรรพบุรุษ และภูมิปัญญาท้องถิ่น งานแกะสลักไม้ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของ วัฒนธรรมล้านนาที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี การทำมาหากิน ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวล้านนา
ภาพวาดสมัยอยุธยา ได้แรงบันดาลใจมาจากระบบการจัดกองกำลังของกองทัพอยุธยา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากระบบกองทัพของเผ่าไท–ลาวอย่างแน่นอน แต่ทางราชสำนักอยุธยาก็มีการปรับปรุงให้กระชับยิ่งขึ้นโดยการให้คงไว้เฉพาะตำแหน่ง “หัวหมู่” หรือเจ้าหมู่, นาย (หรือนายร้อย), พัน, และหมื่นเท่านั้น
เป็นพระพุทธรูปที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นประมุขของอาคารพิพิธภัณฑ์และล็อบบี้ของโรงแรมชินปุระ เนื่องจากผู้สร้างได้แรงบันดาลใจจากสงครามระหว่างอยุธยาและล้านนา ที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานถึง 25 ปี แต่ไม่มีผู้ใดได้อะไรเลย ทั้งดินแดนและพระเกียรติ ซ้ำยังต้องสูญเสียทั้งคนในครอบครัวและทหารหาญจำนวนมาก เดือดร้อนไพร่ ราษฎร ที่ต้องพลัดพรากจากกัน จึงออกแบบพระพุทธรูปเป็นปางห้ามสมุทร ในพระอิริยาบถยืนยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้น เหมือนเป็นการห้ามทัพทั้งสองให้หยุด โดยใช้ลักษณะพระพักตร์ของพระพุทธชินสีห์และทรงเครื่องกษัตริย์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของประมุขแห่งแคว้นทั้งสอง
ภายในโรงแรมจะพบเห็นศิลปะปูนปั้นได้ตามซุ้มประตูต่างๆ มีทั้งศิลปะของทางล้านนาและอยุธยา ทั้งสองซุ้มจะค่อนข้างมีความแตกต่างชัดเจนในเรื่องของแบบและรูปทรง ซึ่งทางฝั่งอยุธยาจะดูแข็งแรงแต่ทางฝั่งล้านนาจะดูอ่อนโยนกว่าเมื่อเทียบกัน